4 กระบวนการสู่ความมั่งคั่ง

4 กระบวนการสู่ความมั่งคั่ง

ความมั่งคั่ง (Wealth)

ความมั่งคั่ง (Wealth) หมายถึง การที่ขนาดของสินทรัพย์สุทธิของตนเอง ซึ่งมาจากสินทรัพย์รวมของตนหักออกด้วยหนี้สินของตน ซึ่งหากสองค่านี้ลบกัน แล้วมีค่าบวกมากๆ ก็เรียกว่า มีความมั่งคั่งมาก ซึ่งผู้ที่มีความมั่งคั่งมาก ก็ยังสามารถต่อยอดความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ เพื่อให้กลายเป็นความมั่นคงได้นั่นเอง​

การบริหารความมั่งคั่ง ( Wealth Management )

เป็นการบริการ ที่ให้คำปรึกษาการลงทุน ที่รวมถึงบริการทางการเงินอื่น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า การบริหารความมั่งคั่ง เริ่มด้วยกระบวนการให้คำปรึกษา โดยผู้ที่ให้คำปรึกษาจะรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับความต้องการของลูกค้า และสถานะทางการเงิน ณ  ปัจจุบัน และเมื่อทราบสถานะทางการเงินของลูกค้าแล้ว ผู้ให้คำปรึกษาจะทำแผนการเงินส่วนบุคคล โดยใช้ผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินที่หลากหลาย เข้ามาช่วยในกระบวนการสร้างความมั่งคั่ง เช่น คำแนะนำด้านการลงทุน การวางแผนอสังหาริมทรัพย์ การบัญชี การเกษียณอายุ และบริการด้านภาษี ซึ่งการที่ผู้ให้คำปรึกษา จะทราบว่าลูกค้านั้น มีความต้องการวางแผนทางการเงิน และสถานะทางการเงินเป็นอย่างไรนั้น จะใช้เครื่องมือ ที่เรียกว่า wealth management ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้​

1. การสร้างความมั่งคัง หรือ Wealth Creation

การสร้างความมั่งคั่ง ผ่านการวางแผนรายได้ และค่าใช้จ่าย หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การทำบัญชีรายรับ รายจ่ายนั่นเอง ในแผนการสร้างความมั่งคั่งนี้ เราจะต้องทราบก่อนว่า ณ ปัจจุบัน เรามีรายได้ เท่าไหร่ เป็นรายได้จากช่องทางไหนบ้าง และมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ นอกจากรายได้ และค่าใช้จ่ายแล้ว เราควรที่จะทราบว่า ณ ปัจจุบัน เรามีเงินที่จะเหลือเก็บไว้สำหรับออม อยู่บ้างไหม  เพราะ เงินออม นั้นสำคัญอย่างมาก ในการที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ความสำเร็จทางการเงิน’ โดยออมอย่างน้อย 10% ของรายได้ และนอกจากแผนค่าใช้จ่ายแล้ว เราควรวางแผนสภาพคล่องทางการเงินอย่างน้อย 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน กรณี worst case ถูก lay off กะทันหัน อย่างน้อยที่สุด เราสามารถจะมีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายประมาณ 3 – 6 เดือน เพื่อให้สามารถออกแบบชีวิตใหม่ได้โดยที่ไม่ได้ยากลำบากจนเกินไป  และเราก็ไม่ควรที่จะมีเงินสภาพคล่องมากเกินไป เพราะการเก็บเงิน เพื่อสภาพคล่องไว้ที่บัญชีออมทรัพย์ มักจะได้ดอกเบี้ยที่ต่ำ ดังนั้น เราจึงควรนำเงินส่วนเกินจากสภาพคล่องมาบริหารจัดการ ในการลงทุนอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า​

2. การปกป้องความมั่งคั่ง หรือ Wealth Protection

การสร้างหลักประกัน เพื่อปกป้อง และลดความเสี่ยงของความเสียหาย ตลอดจนความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ กับทรัพย์สินที่อยู่ในครอบครองทั้งที่มีชีวิต อันได้แก่ตัวเรา และผู้อยู่ในอุปการะ และทรัพย์สินที่ไม่มีชีวิต ได้แก่ ทรัพย์สินมีค่า บ้าน รถยนต์ ฯลฯ โดยหากเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกับทรัพย์สิน ส่งผลต่อสภาพความมั่งคั่งลดลง เกิดอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายทางการเงิน  เราสามารถปกป้องความมั่งคั่ง โดยผ่านการวางแผนประกันภัย และแผนเกษียณอายุ -การปกป้องความมั่งคั่งผ่านการวางแผนประกัน ( insurance  planning ) เป็นการวางแผนคุ้มครองความเสี่ยงที่อาจเกิดความเสียหายขึ้น กับทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครอง เมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่าง ๆ เช่น เจ็บป่วย ไม่สบาย หรือประสบอุบัติเหตุ มักจะเป็นตัวการทำลายเงินออมที่มีอยู่ เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่าง ๆ การไม่มีหลักประกันที่มากพอ ส่งผลต่อการนำเงินออมออกมา เพื่อรับผิดชอบในความเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งหากผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อฐานะการเงิน และทำให้ไม่สามารถไปถึงเป้าหมายทางการเงินอื่นๆ ตามที่วางแผนไว้

การปกป้องความมั่งคั่ง ผ่านการวางแผนเพื่อวัยเกษียณ (Retirement Planning) เป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องความมั่งคั่ง เพื่อสามารถสร้างความมั่นใจว่าความมั่งคั่งของเราที่สามารถสร้างไว้ตอนที่มีกำลังในการทำงาน จะคงอยู่ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่เราเกษียณอายุ โดยเกษียณอย่างมีความสุข มีทรัพย์สินมากพอสำหรับใช้ในวัยเกษียณ มีอิสรภาพทางการเงิน ไม่เป็นภาระลูกหลาน อันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ​

3. การสะสมความมั่งคั่ง หรือ Wealth Accumulation

การวางเป้าหมาย และการวางแผน เพื่อให้เงินทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการวางแผนภาษี และการวางแผนการลงทุน หากเรามีการวางแผนภาษีที่เหมาะสม  สามารถที่จะลดภาระภาษีตามสิทธิประโยชน์ที่ภาครัฐมอบให้ โดยสามารถเปลี่ยนค่าใช้จ่ายทางภาษีให้เป็นเงินออมได้  ส่วนการวางแผนการลงทุน เป็นการสร้างผลตอบแทนที่เพียงพอ โดยอาจจะเพิ่มรายได้จากทรัพย์สินทางการเงิน เพื่อการบรรลุเป้าหมาย ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ดังนั้น การวางแผนภาษี และการวางแผนการลงทุน  จึงทำให้ทรัพย์สิน และความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจากเดิม ส่งผลต่อการเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมายทางการเงิน เป็นการต่อยอดความมั่งคั่ง (เงินทำงาน)

4. การส่งมอบความมั่งคั่ง หรือ Wealth Distribution

การจัดสรรทรัพย์สิน เพื่อส่งต่อให้กับคนรอบข้าง และแบ่งปันให้กับสังคม โดยมั่นใจว่าทรัพย์สินจะถูกสืบทอดไปตามเจตนารมณ์ของตนเอง ผ่านการถ่ายโอนความมั่งคั่งผ่านการวางแผนมรดก  เพื่อส่งมอบความมั่งคั่งให้กับทายาทรุ่นต่อไป หรือมมอบเป็นการกุสลให้แก่สังคม และมั่นใจได้ว่าความมั่งคั่งที่เราได้สะสมมา มีการส่งมอบไปถึงลูกหลานอย่างถูกต้อง เหมาะสม ตามเจตนารมณ์ที่เราตั้งใจไว้​

บทความที่คุณอาจชอบ